|
เสียงจากอุปกรณ์ ฟังออก จริงหรือ โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ถ้ามีใครสักคนมาบอกว่า การเลือกอะหลั่ยเกรดดี-เลว ทำให้เสียงเปลี่ยน ทุกคนจะมองว่า เพ้อเจ้อ คิดไปเอง ไม่จริง ฟังไม่ออก ฯลฯ เวลาผ่านไป 30 ปี การณ์กลับตรงกันข้าม นักเล่นกว่าครึ่งต่างยืนยันว่า ชนิด ยี่ห้อ คุณภาพของอะหลั่ย ไม่ว่าสายไฟ AC, สายไฟ DC, หัวปลั๊กตัวผู้ เต้าเสียบตัวเมีย (ทั้งที่หลังเครื่อง และอยู่ลอยบนสายไฟ), เส้นฟิวส์, ขั้วตัวยูเสียบสายในเครื่อง, สายเสียง, สายลำโพง, อะหลั่ยอุปกรณ์ชนิดเดียวกัน, ต่างยี่ห้อ ต่างเกรดต่างราคา, คุณภาพวอลลุม, หางปลาปลายสายลำโพง, หัว RCA ตัวผู้-เมีย, หัวบาลานซ์, ขั้วต่อออกสายลำโพง, หัวเสียบสายลำโพง, สายเชื่อมหลังตู้ลำโพงระบบไบ-ไวร์, น๊อต, แผงวงจร, ตัว L/C/R ฯลฯ ล้วนมีผลต่อคุณภาพเสียงตั้งแต่ 15% ถึงเกิน 100% ราคาของอุปกรณ์หน้าที่เดียวกัน อาจต่างกันได้เป็น 100 เท่า ขึ้นไป และแน่นอน ถ้าใครสักคนต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ที่ราคาต่างกันมากมายขนาดนี้ ก็ต้องมั่นใจแล้วว่า มันต่างกันจริง ดีกว่าจริง จนฟังออก โดยนับวัน คนกลุ่มนี้จะมีมากขึ้นๆ คำถามคือ ทำไมยังมีบางคน อ้างว่า พวกเขาฟังไม่ออกว่ามันจะดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าต้องจ่ายค่าอะหลั่ยอุปกรณ์ที่แพงกว่ากันมากมายขนาดนั้น บางคนอ้างไปไกลว่า เครื่องเสียงไฮเอนด์ (เครื่อง, ลำโพง) แทบทั้งหมดที่วางขายในท้องตลาด ทำไมยังใส่แค่อะหลั่ย อุปกรณ์คุณภาพพื้นๆ ตลาดๆ มา ทั้งๆ ที่เครื่องเสียงไฮเอนด์พวกนี้ ราคาก็สูงลิบลิ่ว จนน่าจะเจียดงบมาขยับใช้อะหลั่ยเกรดซุปเปอร์ไฮเอนด์เหล่านี้ได้ ผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮเอนด์บางค่ายถึงกับฟันธงว่า เสียงไม่ต่างกัน ป่วยการใช้อะหลั่ยดีๆ แพงๆ ดังกล่าวแล้ว พวกที่อ้างว่า ฟังความแตกต่างไม่ออก เป็นเพราพวกเขาฟังไม่เป็น หรือ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ? สาเหตุแห่งการ “ฟังความแตกต่างไม่ออก” ได้แก่ 1. วางลำโพงหน้าตรง (ดูเหตุผลว่ามันผิดพลาดอย่างไร ในส่วนของบทความเว็บนี้นะครับ...สำคัญมาก) ถ้าหน้าตรง เสียงจะฟังแบน ตื้น ไร้ทรวดทรง 2. สาย...ไม่ว่าสายไฟบ้าน (ห้องเสียง), สายไฟ AC เครื่อง, สายไฟภายในเครื่อง, สายเสียง (Interconnect), สายดิจิตอล (Coaxial, Optic), สายลำโพง เดินย้อนทิศ (ดูจากลูกศร, ยี่ห้อที่สกรีนที่สายไม่ได้ ต้องฟังทดสอบเอา) ถ้าผิด เสียงจะแบนเป็นหน้ากระดานแถวเรียงหนึ่ง ไร้ตื้น-ลึก ชิ้นดนตรี, นักร้อง แบน ไม่มีทรวดทรง ความกังวานแปะที่เสียงตรงไม่วิ่งลับหายไปหลังเวที 3. ชิ้นส่วนอุปกรณ์ ไม่ว่า ตัวต้านทาน, ตัวเก็บประจุ, ตัวขดลวด, สายเชื่อมแผงวงจร (สายแพ, สายเส้นแยก), เส้นฟิวส์ เสียบขาสลับกัน (แม้เป็นแบบไม่มีขั้วก็ตาม) อันทำให้เกิดอาการแบบข้อ 2 4. ดอกลำโพงแหลม กับดอกกลางทุ้ม (กรณีลำโพง 2 ทาง) ต่อกลับเฟสกัน (บวก, ลบ ต่างกัน โดยแหลม, กรวยกลาง/ทุ้ม ขยับสวนทิศกัน) ก็จะเกิดอาการคล้ายข้อ 2 เช่นกัน 5. สายต่างๆ ภานในตู้ลำโพง, เครื่อง มัด, ขยุ้ม, ผูกรวมๆ กันจนมิติและเสียงแย่ไปแล้ว จึงไม่ฟ้องอะไรได้ 6. ใช้แหล่งรายการที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ดีพอ เช่น ใช้ไฟล์เพลงที่บันทึกมาแย่มากๆ (เสียงแห้ง, แบน, ไร้ทรวดทรง, ไร้ตื้นลึก, ไร้อารมณ์ เป็นทุนเดิมที่แย่อยู่แล้ว) 7. การรบกวนกันเองของอุปกรณ์เครื่องเสียง เช่น เครื่องเสียง CD ที่มีการสุ่มสัญญาณความถี่สูงมากๆ (เป็น GHz) รั่วออกไปกวนอินทิเกรทแอมป์, ปรี, เพาเวอร์แอมป์ จนเสียงแบนเหมือนข้อ 2 หรือจอภาพ LCD กวนด้วยอาการเหมือนกัน รวมทั้งการกวนจากรีโมททั้งหลาย, รีโมทแอร์, จากโน้ตบุ๊ค/PC จากโทรศัพท์ไร้สายของบ้าน, โทรศัพท์มือถือ, จากแลปท้อป, จาก Wi-Fi (ภายในบ้าน, จากภายนอก) จากดวงไฟ LED หน้าเครื่อง, ภายในเครื่อง 8. แผ่นเสียงนั้น, แผ่น CD บันทึกมาไม่ดี เช่นเสียงแบน ตื้น 9. การแตะต้องกันเองของสายต่างๆ ไม่ว่าสายเสียง (ซ้ายแตะขวา) สายไฟ AC กับสายลำโพง สายลำโพงชุดแหลมแตะชุดกลางทุ้ม (นี่คือเหตุผลที่ไม่ควรใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป ต้องใช้สายปกติ แยกอิสระ 2 ชุด ยี่ห้อ, รุ่นเดียวกัน ห้ามแตะกัน) 10. การวางเครื่องทับซ้อนกัน (กวนกันเองจนเสียงกองจม, หุบ) จะเห็นว่า มีทั้งเป็นความผิดพลาดจากโรงงานผู้ผลิต, การติดตั้งชุดที่ไม่ถูกต้อง, การขันน๊อตที่หนีบสายไฟที่แผงจ่ายไฟของบ้าน, ของห้องไม่แน่น (ใช้นานๆ จะคลอน คลายออก) 11. การขยับเข้าภายในตู้ ของดองลำโพง แทนที่จะขยับดันอากาศออก (Absolute Phase ผิด) 12. อคูสติกของห้องฟังมีปัญหาหรือไม่ มันทำให้การฟังมั่วจับประเด็นอะไรไม่ได้ 13. พวกอุปกรณ์เสริมบางตัวจะมีคุณสมบัติเรื่อง “ระยะเวลาเห็นผล” เมื่อเริ่มใช้อาจต้องใช้เวลาสัก 10 วินาทีจึงจะเห็นผล ทำให้บางท่านคิดว่า วางใช้ไม่เห็นผลอะไร ในทางกลับกัน เวลาวางใช้อยู่ พอยกออก 10 วินาทีแรกผลการใช้ยังมีอยู่ จึงฟังไม่ออกว่า ใช้กับไม่ใช้ต่างกันอย่างไร อาการแบบนี้ผมเจอมา 2-3 ตัวแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ดูดซับกระแสแม่เหล็กไฟฟ้า 14. การฟังเปรียบเทียบกรณีฟัง CD สมมติเราฟังเพลง 3 ทุกครั้งที่ย้อนกลับมาฟังเพลง 3 ซ้ำใหม่เพื่อเปรียบเทียบ ต้องกดข้ามมาเพลงเดิม -1 คือเพลง 2 แล้วข้ามโดดกลับไปเพลง 3 แล้วกดหยุดชั่วคราว (Pause) ให้เครื่อง/วงจรรู้ตัวสัก 4-5 วินาที แล้วจึงกดเล่นซ้ำ (Play) มิเช่นนั้น ตอนย้อนกลับมาเพลง 3 “ทันที” เสียง/มิติจะคุ้มดีคุ้มร้าย (Random) แต่ส่วนมากจะแย่ลง (บางครั้งแย่ลงถึง 15%) จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะฟังเทียบกัน 15. การเบินอินเครื่องเสียง (เครื่องเล่น, ปรี, เพาเวอร์, อินทิเกรท, ลำโพง) ยังต้องมีการเบินอิน อุปกรณ์ประกอบก็เหมือนกัน ต้องมีการใช้งานสักพักใหญ่ (เบินอินด้วยเพลงจริงๆ นะครับ ไม่เอาสัญญาณทดสอบที่จะทำให้เกิดตะกอนเสียง...ดูบทความเรื่องการเบินอิน) ถ้ายังเบินอินไม่ได้ที่ บางทีไม่เห็นผล หรือ เห็นแต่ไม่เต็มที่ บางครั้งอาจแย่ลงด้วยซ้ำ 16. การอุ่นเครื่อง, อุ่นลำโพง (Warm Up) ก่อนฟังเปรียบเทียบมีผลไม่น้อย ถ้าไม่อุ่น เสียงจะแบน เวทีตื้น ฟังเทียบอะไรก็แบน ตื้นหมด 17. การรบกวนจากคลื่นความถี่สูงภายนอก ไม่ว่าคลื่นจาก Wi-Fi ไร้สาย (แม้แต่จากสาย LAN ก็แผ่คลื่นออกมามากพอที่จะกวนได้) จากโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ไร้สายในบ้าน เสาส่งถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์ (เสาสูงๆ ที่ตั้งอยู่บนหลังคาตึกนับพันทั่วกรุงและต่างจังหวัดนับหลายๆ พัน) เสาส่งคลื่นวิทยุ VR เสาส่งวิทยุชุมชน รีโมทไร้สายสารพัด (รวมทั้งรีโมทแอร์) กล้องดิจิตอล อุปกรณ์ด้านภาพ (เช่นเครื่อง upscale ภาพ) แม้แต่กล่องกรองไฟ, รางกรองไฟ, คอมพิวเตอร์ PC/โน้ตบุ๊ค/แลปท้อป (iPad), จอภาพ LCD, หลอดไฟ LED ส่องสว่างที่เอามาแทนหลอดนีออน, หลอดไฟปกติ (ทราบไหมว่า หลอดไฟส่องสว่าง LED แผ่คลื่นขยะ(RF Interference) ออกมาเพียบทั้งทางอากาศและย้อนกลับไปในระบบไฟบ้าน กวนเครื่องไฟฟ้าอื่นๆ, เครื่องเสียง, สุขภาพ), นาฬิกาไฟฟ้า (ทั้งข้อมือและตั้งโต๊ะ), ระบบแผงไฟโซล่าเซลล์, ระบบแอร์/ตู้เย็น Inverter ฯลฯ ขยะ RF เหล่านี้จะป่วนเครื่องเสียงเราจนเสียงเตี้ย, แบน, ไร้ทรวดทรง ให้มันแย่อยู่แล้ว จึงแทบฟ้องไม่ออกว่า อุปกรณ์ไหนดีเลวกว่ากัน บทสรุป จากเหตุผลทั้ง 17 ข้อนี้ ก็มากเกินพอที่จะไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ใครฟังออก ใครฟังไม่ออก ทุกข้อมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับถึงที่มาที่ไป ทำไมถึงออกมาแบบนั้นๆ ในส่วนตัว ขอยืนยันว่า ถ้าเราได้จัดการกับข้อปลีกย่อยทั้ง 17 ได้อย่างครบถ้วนที่สุด ฟังความแตกต่างออกแน่นอนว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าจัดการได้น้อย ความแตกต่างนั้นก็น้อย ถ้าจัดการได้มาก ความแตกต่างนั้นก็จะยิ่งมากตาม www.maitreeav.com |